ข่าวสารและสาระน่ารู้

5 ประเภท ไม้ยอดนิยมที่ใช้ผลิตเฟอร์นิเจอร์



5 ประเภท ไม้ยอดนิยมที่ใช้ผลิตเฟอร์นิเจอร์

          ไม้ถือเป็นวัสดุหลักที่ใช้ในการประกอบเป็นเฟอร์นิเจอร์ได้หลากหลายประเภท โดยเฟอร์นิเจอร์ไม้จะช่วยประดับบ้านให้มีความสวยงาม สะดวกต่อการใช้สอยและทนทานต่อการใช้งาน วันนี้ 9889 จะมาแนะนำ “5 ประเภท ไม้ยอดนิยมที่ใช้ผลิตเฟอร์นิเจอร์” ไม้แต่ละประเภทมีความแตกต่างกันอย่างไร รวมไปถึงกระบวนการผลิต ตลอดจนจุดเด่นและจุดด้อยของไม้ที่นำมาทำเฟอร์นิเจอร์ เพื่อใช้เป็นตัวช่วยในการตัดสินใจเลือกซื้อหรือเลือกนำไปผลิตเฟอร์นิเจอร์ให้เหมาะสมตรงตามการใช้งาน คุ้มค่าต่อเงินในกระเป๋า


ที่มา : https://www.woodshopdirect.co.uk
 

1. ไม้แท้ (Wood)

          ไม้แท้ (Wood) คือ การนำไม้จริงจากต้นไม้ทั้งต้นหรือท่อนไม้มาผลิตเป็นเฟอร์นิเจอร์ทั้งชิ้นงาน เป็นที่นิยมมากในสมัยก่อนเพราะไม้หาง่าย ราคาถูกและไม่มีวัสดุอื่นทดแทน ต้องอาศัยช่างไม้ที่มีทักษะ เพราะการต่อไม้ต้องเข้าเดือย ในปัจจุบันเฟอร์นิเจอร์ไม้จริงมีน้อยลงมากเพราะไม้ใหญ่หายากมากขึ้น มีราคาแพงและยังมีวัสดุอื่นๆ ที่มีความทนทาน ทดแทนได้ในปัจจุบัน โดยไม้ที่นิยมนำมาผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้จริง เช่น ไม้สัก, ไม้ประดู่, ไม้เต็ง, ไม้แอช, ไม้โอ๊ค, ไม้มะค่า, ไม้แดง, ไม้ตะเคียนทอง, ไม้ตะแบก เป็นต้น โดยจะมีไม้จริงอีกกลุ่มที่เรามักพบเห็นได้หลากหลายและราคาไม่แพง คือเฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากไม้ยางหรือไม้จามจุรี ซึ่งเป็นไม้ที่มีราคาถูกและส่วนใหญ่เป็นลักษณะไม้ประสาน (Joint Wood)

           ไม้ประสาน คือ การทำเศษไม้ชิ้นเล็กๆ มาแปรรูปเชื่อมต่อกันเป็นไม้ชิ้นใหญ่แล้วค่อยนำไปขึ้นชิ้นงานเป็นเฟอร์นิเจอร์อีกที โดยสามารถแยกประเภทตามลักษณะความแข็งแรงของไม้ ดังนี้

  • ไม้เนื้ออ่อน เป็นไม้ที่มีวงปีกว้างมาก ลำต้นใหญ่ เนื้อค่อนข้างเหนียว แต่แปรรูปได้ง่าย เนื้อไม้มีสีจางหรือค่อนข้างซีด ความทนทานมีขีดจำกัดไม่สามารถรับน้ำหนักได้มากเท่าที่ควร
  • ไม้เนื้อแข็ง เป็นไม้ที่มีวงปีมากกว่าไม้เนื้ออ่อน เพราะมีการเจริญเติบโตช้ากว่า โดยเฉลี่ยมีอายุหลายสิบปี จึงจะนำมาใช้งานได้ ลักษณะทั่วไปของไม้เนื้อแข็ง มีน้ำหนักมาก แข็งแรงทนทาน เหมาะสำหรับงานงานเฟอร์นิเจอร์

จุดเด่น

  • แข็งแรง คงทน ทำจากไม้เนื้อเดียวกันทั้งท่อน
  • ลวดลายสวยธรรมชาติ แตกต่าง เป็นเอกลักษณ์ ไม่ซ้ำกัน

จุดด้อย

  • ราคาแพง หายาก
  • เกิดรอยขูดขีดและเป็นรอยน้ำง่าย ต้องใช้น้ำยาหรือขี้ผึ้งเคลือบอย่างสม่ำเสมอ
  • มีการหดขยายตัวได้ จึงต้องเผื่อพื้นที่ในการรองรับการติดตั้งเฟอร์นิเจอร์
  • ต้องระวังปลวก แมลงต่างๆ
  • หากใช้ไม้อายุน้อยๆ อาจไม่แข็งแรง
  • มีน้ำหนักมาก ยากต่อการขนย้าย

ที่มา : https://www.behance.net




2. ไม้ปาร์ติเกิ้ล (Particle Board)

          ไม้ปาร์ติเกิ้ล (Particle Board) หรือที่เรียกสั้นๆ ว่าไม้ PB ผลิตมาจากเศษชิ้นไม้เล็กๆ รวมไปถึงขี้เลื่อย นำมาอัดประสานกันโดยสารเคมีและนำมาทำการบดอัดด้วยความดันสูง จนได้แผ่นไม้ขนาดต่างๆ โดยความหนาที่นิยมนำมาผลิตเฟอร์นิเจอร์จะอยู่ที่ 9-25 มิลลิเมตร ซึ่งไม้ปาร์ติเกิ้ลบอร์ดถือเป็นไฟเบอร์บอร์ดชนิดหนึ่งและเป็นไม้ที่มีน้ำหนักเบาสุดในบรรดาไฟเบอร์บอร์ดทั้งหมด โดยวิธีการคือจะใช้ไม้ยางพาราสับเป็นชิ้นเล็กๆ ผสมกับกาว แล้วนำไปอัดขึ้นรูปเป็นแผ่นไม้ เนื้อไม้จะ “เหนียวแต่ไม่แน่น” ได้เปรียบตรงความเหนียวที่ได้จากเส้นใยที่ประสานกัน แต่เนื้อไม้จะฟู หยาบ ไม่แน่น ในเนื้อไม้จะมีโพรงอากาศเล็กๆ ทำให้ไม้เบากว่าไม้จริง ซึ่งความแข็งแรงก็น้อยกว่าเอ็มดีเอฟ และพาร์ดวูด มักนิยมเอาไปทำเฟอร์นิเจอร์ หรือโครง Built-in furniture ไม่นิยมพ่นสี แต่จะใช้การปิดผิวด้วยกระดาษ เมลามีน ลามิเนตและวัสดุอื่นแทน

จุดเด่น

  • ราคาถูก หาซื้อง่าย
  • มีวัสดุปิดผิวให้เลือกหลากหลายลวดลาย
  • ทำความสะอาดง่าย ด้วยการเช็ดถูตามปกติ
  • น้ำหนักเบา ขนย้ายสะดวก

จุดด้อย

  • วัตถุดิบโดยรวม มีความแข็งแรงน้อย
  • เนื้อไม้ไม่หนาแน่น ไม่สามารถรับน้ำหนักมากได้ จะเกิดการแอ่นตัว
  • ไม่สามารถโดนน้ำได้ น้ำและความชื้นจะทำให้แผ่นปิดผิวบวม และเนื้อไม้เปื่อยยุ่ย
  • อาจมีเชื้อราเกิดขึ้นได้ง่าย


ที่มา : https://www.pinterest.com

 

 

ที่มา : https://www.addicted2decorating.com
 

3. ไม้ MDF (Medium-Density Fiberboard)

          ไม้ MDF (Medium-Density Fiberboard) เป็นไม้อีกประเภทที่ได้รับความนิยมในการผลิตเฟอร์นิเจอร์สำเร็จรูปแบบลอยตัวและบิลท์อิน โดยกระบวนการผลิตหรือต้นกำเนิดของ Particle board กับ MDF จะคล้ายกัน คือการใช้เศษขี้เลื่อยของไม้ยางพารามาแล้วผสมกาว นำไปอัดเป็นขึ้นเป็นแผ่นและนำแผ่นนั้นมาบดเป็นผงอีกทีหนึ่ง แล้วจึงนำไปผสมกับกาวอบให้แห้ง เพื่อนำไปอัดแผ่น ด้วยความร้อนอีกครั้ง ทำให้เนื้อไม้มีความหนาแน่น ละเอียด และมีพื้นผิวด้านนอกที่เนียนมากกว่าไม้ Particle Board

          คุณสมบัติของ ไม้ MDF (Medium Density Fiberboard) ผิวมีความหนา แน่น และเรียบสม่ำเสมอตลอดทั้งแผ่น สามารถขูดแต่งเนื้อไม้ได้เรียบเนียน งานที่ออกมาจึงดูเรียบร้อยไม่เป็นขุย ขนาดที่นิยมนำมาผลิตเฟอร์นิเจอร์ จะอยู่ที่ 3 - 25 มิลลิเมตร โดยพื้นผิวภายนอกนั้นสามารถปิดผิวได้หลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นการปิดผิวด้วยกระดาษ เมลามีน ลามิเนต รวมไปถึงสามารถนำมาพ่นสีทับผิวด้านนอกเนื้อไม้ได้

จุดเด่น

  • ต้นทุนไม่สูง หาซื้อง่าย
  • เนื้อไม้หนาแน่นและละเอียดมาก จึงมีความแข็งแรง
  • เนื้อผิวละเอียด เรียบเนียน
  • ความแข็งแรงมากกว่าไม้ปาร์ติเกิ้ล
  • ทนน้ำได้ดีกว่าไม้ปาร์ติเกิ้ล
  • สามารถขัดกลึงให้ผิวโค้งมนได้

จุดด้อย

  • ราคาสูงกว่าไม้ปาร์ติเกิ้ล
  • น้ำหนักมากกว่าไม้ปาร์ติเกิ้ล
  • ไม่สามารถรับน้ำหนักมากได้ จะเกิดการแอ่นตัว ต้องเลือกให้เหมาะสมกับการใช้งาน
  • จะเกิดฝุ่นเป็นจำนวนมาก เมื่อเจาะ กลึง หรือตัด
  • ต้องระวังเรื่องความชื้นและปลวก
 

 

ที่มา : https://www.amazon.com


4. ไม้อัด HMR (High Moisture Resistance board)

          ไม้อัด HMR (High Moisture Resistance board) คือ แผ่นใยไม้อัดทนความชื้นหรือการนำไม้เอ็มดีเอฟ (MDF) ผสมสารทนความชื้น โดยกรรมวิธีการผลิตคือการนำไม้ยูคาลิปตัสมาสับและบด จนเป็นเส้นใยละเอียด แล้วใช้เทคนิคในการผลิตแบบอัดประสานด้วยกาวชนิดพิเศษ จึงสามารถช่วยเพิ่มแรงต้านในการขยายตัว และทนทานเมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีความชื้นสูง โดยไม่มีอาการบวม บิด หรือโก่งงอ สามารถใช้กับเครื่องมืองานไม้ได้ทุกชนิด เมื่อนำไปตัดหรือตกแต่งจึงสามารถทำได้ง่ายโดยที่เนื้อไม้ไม่หักหรือบิ่น

จุดเด่น

  • ผิวเนียนเรียบ
  • เนื้อไม้มีความแน่นมาก
  • ไม้ HMR ราคาประหยัดกว่าไม้อัด Plywood
  • สามารถทนน้ำ ทนความชื้นได้ดีกว่าไม้ MDF
  • ทนความร้อนได้ดี
  • สามารถตัดเจาะได้ ไม่เป็นขุย ไม่ยุ่ยง่าย
  • ทำความสะอาดง่าย

จุดด้อย

  • ราคาแพงกว่าไม้ปกติ
  • น้ำหนักเยอะกว่าไม้ทั่วไป
  • ทนชื้นได้น้อยกว่าไม้จริง

ที่มา : https://www.bunnings.com.au


ที่มา : https://www.takizawaveneer.co.jp
 

5. ไม้อัด (Plywood)

          ถือเป็นไม้ที่มีคุณภาพขึ้นมาอีกระดับ เรื่องของความทนทาน แข็งแรง ในกระบวนการผลิตไม้อัด (Plywood) คือ การนำไม้ท่อนซุงมาปอกเปลือกชั้นนอกส่วนที่ผิวไม่เรียบออกไป ผ่าให้ได้แผ่นบาง ๆ หรือที่เรียกว่าวีเนียร์ และนำวีเนียร์ที่ได้มาอัดเข้าด้วยกันเป็นชั้น ๆ จนแน่น โดยใช้กาวเป็นตัวประสาน โดยวีเนียร์แต่ละแผ่นที่นำมาประกอบเป็นแผ่นไม้อัดจะว่างในลักษณะให้เสี้ยนไม้ตั้งฉากกัน เพื่อเพิ่มคุณสมบัติในเรื่องของความแข็งแรง และทำให้ไม้อัดไม่ยืดหรือหดตัว เมื่อความชื้นเปลี่ยนไป และปิดผิวด้วยเยื่อบุไม้ ซึ่งไม้อัดทำมาจากไม้ชนิดต่าง ๆ เช่น ไม้สัก, ไม้ยาง, ไม้ชิงชัน, ไม้ประดู่, ไม้ตองจิง, ไม้จำปา, ไม้สยา, ไม้กะบาก เป็นต้น ที่นิยมนำมาผลิตเฟอร์นิเจอร์ความหนาของไม้อัดจะมีความหนาอยู่ที่ 3, 4, 6, 10, 12, 15 และ 20 มม.

จุดเด่น

  • มีความแข็งแรง ทนทาน ไม่หักง่าย สามารถรับแรงได้ทั้งสองทาง
  • ทนทาน ยืดหยุ่น ไม่บิดงอได้ง่ายๆ
  • ไม่หดตัว ไม่แตกเป็นชิ้นเมื่อเจาะ จึงประกอบเข้ารูปได้ง่าย
  • เพิ่มคุณสมบัติพิเศษได้ เช่น กันน้ำ กันปลวก และกันเชื้อรา
  • ความสวยงาม ลวดลายไม้ต่อเนื่อง ผิวดูเรียบ

จุดด้อย

  • ราคาค่อนข้างสูง เนื่องจากยังคงผลิตจากไม้จริงทั้งแผ่น
  • มีน้ำหนักมาก
  • โดนน้ำได้ในระดับนึง
  • ไม่เหมาะกับการเซาะร่อง
  • หากไม่เคลือบจะทำให้เช็ดถูยาก เนื่องจากผิวไม่ไม่เรียบสนิท
  • อาจมีเสี้ยนที่เป็นอันตราย ต้องขัดและเก็บปิดขอบให้ดี

ที่มา : https://www.etsy.com
  

          หลังจากทราบจุดเด่น-จุดด้อยของไม้แต่ละประเภทกันไปแล้ว จะเห็นได้ชัดว่าไม้แต่ละประเภทก็มีคุณสมบัติจุดเด่นและข้อควรระวังที่แตกต่างกันออกไป 9889 หวังว่าบทความ “5 ประเภท ไม้ยอดนิยมที่ใช้ผลิตเฟอร์นิเจอร์” จะช่วยประกอบการตัดสินใจในการเลือกไม้สำหรับผลิตเฟอร์นิเจอร์ได้ เลือกไม้ได้แล้วก็อย่าลืมเลือกเอจปิดขอบ 9889 ด้วยนะคะ หากผู้ประกอบการธุรกิจผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้ท่านใดสนใจใช้วัสดุปิดขอบเฟอร์นิเจอร์หรือเอจปิดขอบ ทาง 9889 เป็นโรงงานผลิตวัสดุปิดขอบ มีวัสดุปิดขอบให้ได้เลือกมากกว่า 10,000 ไอเท็มด้วยกัน หรือหากยังไม่มีสีหรือลายที่ถูกใจ สามารถส่งชิ้นไม้หรือแผ่นลามิเนตมาให้ทางเราแมทช์กับวัสดุปิดขอบได้เลยค่ะ

 


เรียบเรียง : บริษัท 9889 (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเอจปิดขอบเฟอร์นิเจอร์

#เอจ #เอจปิดขอบ #เอจปิดขอบเฟอร์นิเจอร์ #EdgeBanding9889 #Edgebanding #ขอบพีวีซี #พีวีซีปิดขอบ #วัสดุปิดขอบเฟอร์นิเจอร์ #ขอบเอจ #ขอบPVC #PVCปิดขอบ #ขอบเฟอร์นิเจอร์ #เอจพีวีซี #เอจเฟอร์นิเจอร์ #ขอบเอจทนทาน #เอจกันแสงยูวี #เอจไม่ซีด #เอจไม่เหลือง #เอจทนเเสงยูวี #เอจ9889 #9889edge #9889เอจ #เก้าแปดแปดเก้า #เก้าแปดแปดเก้าขอบเอจ #ขอบเอจเก้าแปดแปดเก้า #คุณภาพดี9889 #PVC9889 #ขอบบิ้วอิน

  ย้อนกลับ
ติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวก่อนใครได้ทุกช่องทางที่